ศาลาเฉลิมกรุง : เวลาทำการ : จันทร์ – อาทิตย์ (ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ)
ร้าน ๑๐๙ (หนึ่ง ศูนย์ เก้า) ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้า ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ เป็นร้านในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

โดยคณะกรรมการ บริษัท สหศีนิมา จำกัด(ศาลาเฉลิมกรุง)
ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปิดร้านขึ้นภายในศูนย์การค้าดิโอลด์สยาม บนเลขที่ ๑๐๙/๒/๗๖ อันเป็นที่มาของชื่อร้าน หนึ่งศูนย์เก้า
เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าจากจิตรลดาและศาลาเฉลิมกรุง ให้มีความหลากหลายและเข้าถึงกลุ่มบุคคลต่างๆได้มากขึ้น

ซึ่งภายในร้านนอกจากจะมีการจำหน่ายสินค้าจากจิตรลดา ผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แล้วยังมีสินค้าจากศาลาเฉลิมกรุงมาร่วมจำหน่ายด้วย อาทิ กระเป๋าป่านศรนารายณ์ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานคำแนะนำให้มีการนำป่านศรนารายณ์มาใช้ประโยชน์ด้านการจักสาน เพื่อเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยใช้เวลาว่างหลังจากเลิกงานด้านการเกษตรแล้ว มาเรียนรู้วิธีการจักสานป่านศรนารายณ์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง ผ้าพันคอ ผ้าไหม ผ้าฝ้ายพิมพ์ลาย ผ้าปูโต๊ะ แก้วน้ำ จานชามเซรามิค ตุ๊กตาผ้าฝ้าย เสื้อผ้าไหมตัดเย็บสำเร็จรูป หมวก เสื้อยืด พวงกุญแจ ร่ม กระเป๋าลิเพา รวมไปถึงสินค้าที่ระลึกอย่าง ฟิกเกอร์หนุมาน หนังสือเล่าขานหลังม่านโขน กุญแจรูปหัวโขน เข็มกลัด แมกเนต เป็นต้น
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ร้าน ๑๐๙(หนึ่ง ศูนย์ เก้า) โทร. ๐-๒๒๒๕-๙๑๐๙

       








   








หลักการ

          ศาลาเฉลิมกรุง โรงมหรสพพระราชทานอันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยในโอกาสฉลองพระนครครบรอบ ๑๕๐ ปี ประกอบกิจการ ด้านการแสดง ละคร ภาพยนตร์ และดนตรี จนประสบความสำเร็จโดยได้รับการตอบรับอันดีเยี่ยม จากประชาชนทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับความร่วมมือจากบุคคลในวงการแสดงทั้งภาครัฐ และเอกชน จัดกิจกรรมมหรสพครบทุกรูปแบบทั้งการแสดงหน้าม่าน ละคร ภาพยนตร์ โขน และดนตรี ให้ประชาชนได้ชมกัน

          ศาลาเฉลิมกรุงจึงตระหนักถึงความสำคัญที่จะมุ่งมั่นอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอันงดงาม และธำรงรักษา ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทยให้คงอยู่ไว้สืบไป เพื่อให้ประชาชนได้รับชมการแสดงต่าง ๆ ที่มีคุณภาพครบทุกอรรถรส อีกประการหนึ่งเพื่อให้เป็นการ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย อย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นนโยบายหลักของศาลาเฉลิมกรุงอีกทางหนึ่ง


นโยบายศาลาเฉลิมกรุง

๑) ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมทางด้านการแสดงของไทยและสากล

๒) พลิกฟื้นศาลาเฉลิมกรุงให้กลับมามีชีวิตชีวาตามพระราชปณิธานดั้งเดิมของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ผู้ทรงพระราชทานศาลาเฉลิมกรุงให้แก่ปวงชนชาวไทย

๓) เป็นแหล่งบันเทิงที่มีคุณภาพและทันสมัยของประเทศในระดับสากล

๔) เป็นที่ศึกษาความเจริญก้าวหน้าของศิลปวัฒนธรรมของชาติทั้งประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการในด้านต่างๆ

๕) ความเหมาะสมกันระหว่างเอกลักษณ์และสถานที่ตั้งของศาลาเฉลิมกรุง จึงควรที่จะสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายดังต่อไปนี้
     ๕.๑) กลุ่มคนไทยที่ให้ความสนใจกับศิลปะการแสดงในแขนงต่างๆ
     ๕.๒) นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชมสถานที่ประวัติศาสตร์ต่างๆ บนเกาะรัตนโกสินทร์

๖) ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างศาลาเฉลิมกรุงกับโครงการมิ่งเมืองและย่านการค้าในรอบบริเวณ


คณะกรรมการ บริษัท สหศีนิมา จำกัด

1. พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานกรรมการ
2. พันโท สมชาย กาญจนมณี รองประธานกรรมการ
3. พันตำรวจเอก ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม รองประธานกรรมการ
4. พลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต กรรมการ
5. พลอากาศตรี สุพิชัย สุนทรบุระ กรรมการ
6. คุณหญิงจันทนี ธนรักษ์ กรรมการ
7. นางเยาวลักษณ์ แพ่งสภา กรรมการ
8. นายชูศิริ คัยนันทน์ กรรมการ
9. นางนฤมล ล้อมทอง  กรรมการผู้จัดการ
   
   
 โรงละครศาลาเฉลิมกรุง
Null

          ศาลาเฉลิมกรุงเป็นผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมชิ้นแรกของหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ตั้งแต่เมื่อสมัยกลับจากการศึกษาต่างประเทศมารับราชการใหม่ๆ ลักษณะอาคารมีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันตกในส่วนโครงสร้าง กับสถาปัตยกรรมไทยที่แทรกอยู่ภายใน
          อาคารศาลาเฉลิมกรุงเป็นอาคารรูปแบบสากลร่วมสมัย (Contemporary Architecture) ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมสูงตระหง่านมั่นคง ผึ่งผาย ตามสไตล์ตะวันตก สามารถจัดการแสดงต่างๆ ฉายภาพยนตร์ ดนตรี และละคร ด้านหน้าชั้นล่างโรงละครเป็นโถงรับรอง และบนชั้นลอยมีห้องรับรองพิเศษ เรียกว่า “ห้องเมขลา” สามารถใช้เป็นที่รับเสด็จและรับรองแขกพิเศษรวมทั้งจัดการแถลงข่าวได้


ข้อมูลปัจจุบันของศาลาเฉลิมกรุง
ที่ตั้ง  : เลขที่ ๖๖ ถนนเจริญกรุง แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
สถาปนิก  : หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร
สถาปัตยกรรม  : ภายนอก Contemporary Architecture
   : ภายใน ผสมผสานศิลปกรรมไทยพร้อมพระราชสัญลักษณ์ศรและห่วงของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เปิดดำเนินการ  : วันอาทิตย์ ที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๗๖
ระบบปรับอากาศ  : Carrier
โรงมหรสพเพื่อ  : การแสดงละครเวที, ภาพยนตร์, ดนตรี ฯลฯ
จำนวนที่นั่ง  : ๖๑๙ ที่นั่ง (ชั้นบน ๑๔๓ ที่นั่ง ชั้นล่าง ๔๗๖ ที่นั่ง)
ขนาดเวที : กว้าง ๑๖.๕๐ เมตร ลึก ๑๑.๗๐ เมตร พื้นที่รวม ๑๙๓.๐๕ ตารางเมตร
อุปกรณ์เวที : ม่านไฟฟ้า, จอ Cyclorama, จอ Cinemascope, จอพร้อมเครื่องฉาย Barco Hydraulic ๓ ชุด
ระบบแสง : Avolites Export Pro
ระบบเสียง : ALLEN&HEATH ML 5000
ระบบฉายภาพยนตร์ : เครื่องฉาย CHRISTIE ระบบ Dolby Digital
ห้องแต่งตัว : ๒ ห้องใหญ่  ๒ ห้องเล็ก
 
ห้องสมัยเฉลิม
     ห้องสมัยเฉลิมเดิมเป็นห้องฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ซึ่งศาลาเฉลิมกรุงได้ทำการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนมาเป็นห้องรับรอง “สมัยเฉลิม”จารึกพระนามของ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงแห่งนี้ สนองพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เมื่อปี ๒๔๗๖ ให้ปรากฏไว้เป็นเกียรติประวัติในสถานที่ซึ่งทรงออกแบบไว้สืบไป
     ศาลาเฉลิมกรุงได้จัดพิธีเปิดใช้ห้องรับรองสมัยเฉลิม เมื่อในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ซึ่งเป็นวันที่ศาลาเฉลิมกรุงได้เปิดดำเนินกิจการครบรอบ ๗๑ ปี
     ห้องสมัยเฉลิมปัจจุบันเป็นห้องรับรองพิเศษ มีการตกแต่งอย่างประณีตสวยงาม ภูมิฐาน เป็นห้องเอนกประสงค์ สำหรับจัดกิจกรรมรองรับผู้คน ประมาณ ๒๐๐ - ๓๐๐ คน
Null
Null

ข้อมูลห้องสมัยเฉลิม

        เวที (STAGE) - ขนาด ๓.๔๕ เมตร x ๘๘๐ เมตร
        ห้อง (HALL) - ขนาด ๖.๘๕ เมตร x ๑๐.๙๕ เมตร
        ห้องโถงรับรอง (LOBBY) - ขนาด ๖.๔๕ เมตร x ๑๕.๐๕ เมตร
        ห้องประชุม (MEETING ROOM) - ขนาด ๓.๔๕ เมตร x ๘.๘๐ เมตร
วัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง
         หอประวัติศาลาเฉลิมกรุง ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ และ เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ที่ทรงพระราชทานศาลาเฉลิมกรุงเป็นของขวัญแก่พสกนิกรชาวไทย ในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๑๕๐ ปี
          “หอประวัติศาลาเฉลิมกรุง” คือความพยายามประการหนึ่งที่จะค้นคว้าและบันทึกเรื่องราวในอดีตที่สะท้อนผ่านกิจกรรมบันเทิงทางศิลปวัฒนธรรมสู่คนยุคปัจจุบัน และรักษาไว้เพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา            
           หอประวัติศาลาเฉลิมกรุง ก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวม เอกสาร ภาพถ่าย และสิ่งของต่างๆ ในอดีต ทั้งที่เป็นของศาลาเฉลิมกรุงเองและที่เกี่ยวข้องกับศาลาเฉลิมกรุง รวมทั้งวงการเพลงไทย ตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจศึกษาค้นคว้าทางด้านนี้ อีกทั้งได้ดำเนินการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์หลายอย่าง เช่น นิทรรศการ, งานวันสถาปนาศาลาเฉลิมกรุง, และนิทรรศการการรำลึกถึง มิตร ชัยบัญชา ในวันที่ ๘ ตุลาคม ของทุกปี รวมถึง กิจกรรมทัศนศึกษา สถานที่สำคัญและวัดวาอารามในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ และมีเอกสารให้ศึกษาค้นคว้าด้วยจนถึงปัจจุบัน โดยมี หม่อมราชวงศ์ ไชยฉัตร สุขสวัสดิ์ เป็นผู้ดูแลและให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ

การดำเนินการของหอประวัติศาลาเฉลิมกรุง
๑) รวบรวมประวัติความเป็นมา ข้อมูลหลักฐานของศาลาเฉลิมกรุง ในฐานะที่เป็นแหล่งบันเทิงทางศิลปวัฒนธรรมของชุมชนชาวกรุงเทพมหานคร มากว่า ๘๖ ปี 
๒) เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และแสดงออกทางความคิดเห็น ประสบการณ์ทางศิลปวัฒนธรรมในหมู่ประชาชนและเยาวชน เช่นการจัดเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับศิลปะการแสดง ภาพยนตร์และดนตรี การจัดนิทรรศการ การแสดงและการประกวดผลงานทางศิลปะ นำเที่ยวชมและศึกษาสถานที่สำคัญบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ หรือรอบๆ ศาลาเฉลิมกรุง เพื่อเสริมแนวคิดอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม
๓) จัดตั้ง “กองทุนหอประวัติศาลาเฉลิมกรุง” เพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น
๔) รวมรวมสิ่งของที่เป็นหลักฐาน หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับศาลาเฉลิมกรุงในอดีต อาทิเช่น รูปถ่าย ใบปิดหนัง โปสเตอร์ เทป วิดีโอเทป ฯลฯ เพื่อเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์และเผยแพร่ต่อไป

ข้อมูลของหอประวัติศาลาเฉลิมกรุง
          สิ่งสำคัญต่างๆ ที่อยู่ในหอประวัติศาลาเฉลิมกรุง ไม่ว่าเป็นเอกสารข้อมูล หนังสือ ภาพถ่าย วีดิทัศน์ VCD แถบเสียงต่างๆ และสิ่งของต่างๆ ที่ได้ทำการเก็บและรวบรวมไว้แล้วนั้น แบ่งเป็นหมวดหมู่ได้พอสังเขปตามรายละเอียดดังนี้ เช่น
๑) หนังสือพิมพ์ นิตยสารด้านบันเทิงในอดีต เช่น นิตยสาร ภาพยนตร์ และโทรทัศน์ นิตยสารดาราไทย นิตยสารดาราภาพ มาจนถึง นิตยสารภาพยนตร์บันเทิง ดาราภาพยนตร์ เรื่องย่อ ละครโทรทัศน์ต่างๆ มากมาย
๒) หนังสือประวัติ และผลงานของศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหลายท่าน และของศิลปินอาวุโสและศิลปินในอดีตมากมาย
๓) ภาพถ่ายดาราภาพยนตร์ไทยในอดีตถึงปัจจุบัน
๔) ภาพถ่ายศิลปินสาขาศิลปะ การแสดงแขนงต่างๆ
๕) ภาพถ่าย และใบปิดภาพยนตร์ไทยในอดีตมากมาย
๖) แถบวีดิทัศน์ และ VCD ภาพยนตร์ไทยทั้งเก่าและใหม่มากมาย
๗) เอกสารค้นคว้าสถานที่สำคัญรอบเกาะรัตนโกสินทร์ และที่สำคัญเป็นที่รวบรวมภาพพระบรมฉายาลักษณ์ และพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงสถาปนาศาลาเฉลิมกรุงขึ้นเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๖ รวมทั้งภาพ ประวัติข้อมูลต่างๆ และสิ่งต่างๆ ของศาลาเฉลิมกรุงโดยละเอียด
๘) แถบเสียง เพลงไทยเดิม เพลงไทยสากล เพลงไทยลูกทุ่ง เพลงสากลยุค ๖๐ เพลงประกอบ ภาพยนตร์ไทยในอดีต และเพลงประกอบละครโทรทัศน์
๙) โน้ตเพลงและเนื้อเพลง ไทยสากล เพลงไทยลูกทุ่ง เพลงสากลยุค 60's เพลงประกอบภาพยนตร์ไทยในอดีต พร้อมประวัติและข้อมูลโดยละเอียด
๑๐) เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูล ด้านภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ เพลงไทย นาฏศิลป์ไทย และละครไทย แขนงต่างๆ

          ศาลาเฉลิมกรุงมิใช่เป็นเพียงโรงภาพยนตร์โรงหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวพันกับความรุ่งเรืองของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเป็นตัวแทนความเฟื่องฟูของวงการภาพยนตร์ของประเทศในอดีตที่ผ่านมา
          อนุสนธิมูลเหตุที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารถในการฉลองกรุงเทพมหานครครบ ๑๕๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์หรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า เชื่อมฝั่งพระนครกับกรุงธนบุรี ให้มีความทัดเทียมกันเป็นปฐม พร้อมทั้งได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไว้ที่เชิงสะพานฝั่งพระนครเพื่อเป็นที่รำลึกถึงพระผู้ทรงประดิษฐานกรุงเทพมหานคร และ พระบรมราชจักรีวงศ์
        อนึ่งได้ทรงพระราชดำริว่าในประเทศไทยยังไม่มีโรงภาพยนตร์ที่งดงาม ภูมิฐาน เป็นศรีสง่าแก่พระนคร ประกอบกับพระราชนิยมในการผลิตและทอดพระเนตรภาพยนตร์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระมหากรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์กว่า ๙ ล้านบาท เพื่อสร้างโรงภาพยนตร์สำหรับฉายเสียงขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย การก่อสร้างอาคารศาลาเฉลิมกรุงเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๗๓ โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เอง ในการนี้ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันชั้นนำจากประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง ได้พระราชทานนามของโรงมหรสพเพื่อเป็นเกียรติกับผู้ออกแบบ และเป็นอนุสรณ์แห่งงานฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี ว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” เปิดฉายภาพยนตร์เสียงเป็นแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๖ และดำเนินกิจการให้ความบันเทิงแก่ประชาชนทั่วไปจนถึงปัจจุบัน
        ในสมันนั้นอาคารศาลาเฉลิมกรุงจัดได้ว่าเป็นอาคารที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย เป็นโรงมหรสพแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นศูนย์รวมแหล่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเป็นศูนย์รวมของผู้คนในวงการภาพยนตร์ ตั้งแต่ผู้สร้างผู้กำกับ ดารา ตัวประกอบ ทีมงาน นักพากย์ นักร้อง ช่างเขียนโปสเตอร์ และเป็นสถาบันในการผลิตบุคลากรทางด้านการภาพยนตร์ และละครไทย ศาลาเฉลิมกรุงเป็นเหมือนประกาศนียบัตรรับรองความสำเร็จของบุคลากรในสายอาชีพนี้
        แม้ในปัจจุบัน ได้มีความบันเทิงหลากหลายรูปแบบแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย หากแต่ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และความงดงามทางศิลปวัฒนธรรมของศาลาเฉลิมกรุงที่ตรึงตรา และผูกพันอยู่คู่คนไทย ตลอดจนชีวิตของวงการบันเทิงมายาวนานกว่า ๘๙ ปีนั้น ทำให้ปัจจุบัน “ศาลาเฉลิมกรุง” มีการจัดงานบันเทิงและงานศิลปวัฒนธรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปการแข่งขันทางธุรกิจ และการบันเทิงรูปแบบใหม่อาจส่งผลต่อ “ศาลาเฉลิมกรุง” ในอันที่จะลดเลือนความสำคัญไปจากคนไทยนั้นได้
        สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จึงได้ก่อตั้ง “มูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง” ขึ้นตามนโยบายเชิงสังคมในการอนุรักษ์ไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมไทย ตั้งอยู่ที่ ๖๖ ถนนเจริญกรุง แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ด้วยหวังเป็นอย่างยิ่งในอันที่จะดำรงไว้ซึ่งศาลาเฉลิมกรุงให้อยู่คู่ชาติ และคนไทยตลอดไป “มูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง” ได้ทำพิธีเปิดที่ทำการมูลนิธิอย่างเป็นทางการในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ณ ห้องสมัยเฉลิม ศาลาเฉลิมกรุง นับเป็นโอกาสอันดีเนื่องด้วยในวันเดียวกันนี้ เป็นวันที่ศาลาเฉลิมกรุงได้เปิดดำเนินการครบ ๗๒ ปี 
 
วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งมูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง
๑)  เพื่อเชิดชูเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
๒)  เพื่อจัดหาทุน เพื่อการบำรุงรักษาและบูรณะศาลาเฉลิมกรุง โรงมหรสพพระราชทาน ให้เป็นที่แพร่หลายและยั่งยืน
๓)  เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมทางด้านการแสดงของไทย
๔)  เพื่อสร้างและส่งเสริมความเข้าใจอันดีในความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับมิตรประเทศตลอดจนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน
๕)  เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ละครเวที ตำนานเพลงไทย และจังหวะชีวิตของโรงละคร พร้อมทั้งส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าวให้เจริญก้าวหน้า
๖)  ส่งเสริมเกียรติของสมาชิกที่อยู่ในวงการบันเทิง ให้เป็นที่แพร่หลาย รู้จักนับถือโดยทั่วไป
๗)  เพื่อเสริมสร้างความกลมเกลียว บำเพ็ญทาน ประกอบกิจการสาธารณะประโยชน์ และการกุศลต่างๆ
๘)  เพื่อดำเนินการสาธารณะประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณะประโยชน์
๙)  ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
          ด้วยอดีตที่ผูกพันกับหลายสิ่งหลายอย่างที่เข้มข้น ผูกพันกับชีวิตคนเป็นจำนวนมาก ผูกพันกับประวัติศาสตร์ของสังคมไทยในกรุงเทพมหานครมาเป็นเวลานาน ศาลาเฉลิมกรุงจึงควรค่าแก่การสนใจและทำนุบำรุงไว้เพื่อให้เป็นโรงภาพยนตร์พระราชทานสมดังพระราชประสงค์สืบไป