ศาลาเฉลิมกรุง : เวลาทำการ : จันทร์ – อาทิตย์ (ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ)

ยุคแรกเปิดโรง (๒๔๗๖ - สงครามโลกครั้งที่ ๒ (๒๔๘๖)


          เมื่อวันที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ นั้นภาพยนตร์ได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกเกือบ ๘๖ ปีแล้ว

         นับจากวันที่หลุยส์ ลูมิแอร์ (LUMIERE) และคณะได้นำภาพยนตร์ซีเนมาโตกราฟของเขาออกเผยแพร่ เก็บค่าดูจากสาธารณชนเป็นครั้งแรก ณ ห้องใต้ถุนร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงปารีส เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๓๘ ซึ่งถือว่าวันนี้คือวันกำเนิดของภาพยนตร์บนโลกตามมาตรฐานสากล

        ระยะแรกภาพยนตร์ที่นำออกฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์เสียงในฟิล์มจากต่างประเทศ เนื่องจากภาพยนตร์ไทยยังคงผลิตกันได้น้อย มีการนำการพากย์เสียงภาษาไทยให้กับภาพยนตร์เสียงในฟิล์มจากต่างประเทศแทนการพากย์ภาพยนตร์เงียบโดยมีนายสิน สีบุญเรือง หรือทิดเขียว เป็นผู้ริเริ่ม

ยุคภาพยนตร์ไทย (๒๔๘๘ - ๒๕๒๔)

           พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าการดำเนินการโรงภาพยนตร์เป็นกิจการต่อเนื่องซึ่งจำต้องมีผู้ดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยดี จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งบริษัทขึ้นมา เพื่อดูแลบริหารงานของโรงภาพยนตร์และดำเนินกิจการเกี่ยวกับการค้าภาพยนตร์ด้วย ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้ว่า บริษัท สหศินีมา จำกัด (THE UNITED CINEMA COMPANY LIMITED) ซึ่งมีความหมายดังที่พระราชทานให้ว่า "แข็งแรงขึ้นร่วมกัน"

           ในระยะแรกที่มีการทำภาพยนตร์ขนาด ๑๖ มิลลิเมตร ออกมาป้อนตลาดนั้นภาพยนตร์ที่ถือว่าโด่งดังมากเข้าฉายที่ ศาลาเฉลิมกรุงปี พ.ศ.๒๔๘๓ คือ เรื่องสามปอยหลวง ที่ถ่ายทำโดยใช้ฟิล์มขนาด 16 มิลลิเมตร ระบบสีธรรมชาติซึ่งเพิ่งมีขึ้น ภาพยนตร์เรื่องนี้พากย์โดยทิดเขียวเข้าฉายอยู่นาน ๒๑ วันและทำรายได้สูงสุดของสมัยนั้นถึง ๓๔,๐๐๐ บาท ทำลายสถิติรายได้สูงสุดที่ภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่อง "ทาร์ซานกับมนุษย์วานร" เคยทำไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ ลงได้  
         จากความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง "สามปอยหลวง" นี้เอง เป็นจุดเริ่มผลิตภาพยนตร์ออกมาป้อนตลาดได้บ้าง แต่ในที่สุดก็ต้องหยุดชะงักไปในช่วงที่ประเทศได้เข้าร่วมในยุทธภูมิของสงครามโลกครั้งที่สอง

 

ภาพยนตร์ไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

        ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ศาลาเฉลิมกรุงมีการฉายภาพยนตร์ไทยมากมาย ช่วงนี้นับเป็นยุคทองของภาพยนตร์ไทย และเป็นช่วงที่คนทั่วไปรู้จักโรงภาพยนตร์แห่งนี้มากที่สุด ยุคที่ภาพยนตร์ไทยเฟื่องฟูนี้ เกิดธรรมเนียมใหม่ๆ ขึ้นหลายอย่างได้แก่ การจัดรอบปฐมทัศน์ หรือ กาล่าพรีเมียร์ เพื่อโปรโมทภาพยนตร์ เรื่องแรกครั้งแรกที่จัดที่ศาลาเฉลิมกรุงคือเรื่อง "สามเสือสมุทร" ปี ๒๔๙๖ ต่อมามีการแสดงดนตรีโดยวงดังๆสมัยนั้น และการแสดงจำอวดดังๆ เช่น ล้อต๊อก ก๊กเฮง ทองแถม บังเละ สมพงษ์ ฯลฯ มีการฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์โดยก่อนฉายมีการแสดงดนตรีบนเวที เช่น วงดนตรีคณะสุนทราภรณ์วงดนตรีทหารอากาศ เป็นต้น ถือได้ว่าดูหนังฟังเพลงไปในรายการเดียวกัน
        "ศาลาเฉลิมกรุง" แหล่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์เปรียบประดุจฮอลลีวูดเมืองไทย เป็นที่พบปะของกลุ่มบุคคลในวงการบันเทิงทั้งผู้สร้าง ดารา ตัวประกอบ นักพากย์ ฯลฯ จะนับว่าศาลาเฉลิมกรุงเป็นสถาบันการผลิตบุคลากรภาพยนตร์และละครเวที
        อย่างไรก็ดี ช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๑ - ๒๕๒๔ วงการภาพยนตร์ไทย และศาลาเฉลิมกรุงต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงด้านการตั้งกำแพงภาษี ตลอดจนความเจริญเติบโตของวงการโทรทัศน์และเครื่องเล่น VDO ซึ่งได้พัฒนาคุณภาพรายการ อีกทั้งยังเป็นสื่อที่สามารถเผยแพร่ภาพรายการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไปอย่างรวดเร็ว เมื่อสถานการณ์ของประเทศเริ่มก้าวสู่ความเจริญจากการปรับตัวหลังสงครามเศรษฐกิจการค้ารวมถึงการติดต่อกับต่างประเทศอยู่ในสภาพดีขึ้น อุตสาหกรรมภาพยนตร์จึงฟื้นตัวสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้งทำให้ละครเวทีต้องลาโรงจากศาลาเฉลิมกรุงไป
        สำหรับศาลาเฉลิมกรุงนั้นเป็นโรงละครที่มีเวทีกว้างมากสมัยก่อนเล่นละครจะต้องมีการบอกบท แต่ถ้าเล่นละครที่นี่คนเล่นจะต้องแม่นบทมากต้องซักซ้อมมาอย่างดี เพราะคนเล่นจะไม่สามารถได้ยินบทที่บอกได้เพราะเวทีกว้างจริง ๆ ถ้าคนเล่นได้ยินรับรองคนดูได้ยินแน่นอน

ยุคละคร (๒๔๘๔-๒๔๘๘)

           ที่ก่อกำเนิดมาพร้อมกับความเฟื่องฟูของละครที่ศาลาเฉลิมกรุงก็คือบรรดานักร้องหน้าม่านที่ร้องเพลงสลับฉากทั้งหลายนักร้องหน้าม่านเหล่านี้จะเป็นนักร้องเสียงดีที่มีชื่อเสียงหรือเคยผ่านเวทีการประกวดร้องเพลงมาแล้วและมาเกิดที่ศาลาเฉลิมกรุงก็หลายคน การร้องเพลงสลับฉากหน้าม่านจะเป็นการร้องเพลงกันสดๆโดยไม่มีวงดนตรีบรรเลงเสริมคอยช่วยเหลือ เมื่อยืนร้องเพลงอยู่ที่หน้าม่านนั้น คือ พรสวรรค์และความสามารถของนักร้องแต่ละคนอย่างแท้จริง นักร้องหน้าม่านของศาลาเฉลิมกรุงที่มีชื่อเสียงโด่งดังสมัยนั้นก็มี เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, สถาพร มุกดาประกร, ชาญ เย็นแข, คำรณ สัมปุณณานนท์, ล้วน ควันธรรม, นคร มงคลายน, นคร ถนอมทรัพย์ ฯลฯ            

           นอกจากนี้ทางศาลาเฉลิมกรุงก็มีการจัดวงดนตรีมาเล่นสลับกันบ้าง วงดนตรีที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ได้แก่ วงดุริยะโยธิน, วงดนตรีทรัพย์สินฯ และวงสุนทราภรณ์ การแสดงละครย่อยของคณะจำอวด ซึ่งปกติจะเล่นประจำอยู่ที่ศาลาเฉลิมบุรีโรงภาพยนตร์ในเครือเดียวกัน
           การแสดงมหรสพในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง มักจะมีผู้ชมมาชมกันแน่นขนัด เพราะความที่ขาดแคลนการบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ แม้บางครั้งจะต้องนั่งชมการแสดงพลางเงี่ยหูฟังสัญญานเตือนภัยทางอากาศไปพลาง แต่ก็มิได้มีการย่อท้อกันแต่ประการใดทั้งผู้แสดงและผู้ชม
ยุคปัจจุบัน
   
   

          ศาลาเฉลิมกรุงในฐานะโรงมหรสพพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ดุจเดียวกับเวทีที่ไม่อาจร้างการแสดงเป็นโรงมหรสพที่ไม่อาจร้างผู้ชม เมื่อความนิยมของผู้คนผันแปรไปอย่างไม่อาจฝืนกระแส ก็ย่อมถึงเวลาแห่งการปรับจุดยืนเปลี่ยนบทบาทการวางตัวใหม่ของศาลาเฉลิมกรุงเช่นกัน

          โดยความเห็นชอบจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และบริษัท สหศีนิมา จำกัด ผู้ดูแลกิจการของโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงได้ให้ความร่วมมือสำหรับการเข้ามาของ บริษัท เฉลิมกรุงมณีทัศน์ จำกัด ในการปรับปรุงศาลาเฉลิมกรุงให้เป็นโรงมหรสพเพื่อการแสดงระดับสากล อันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ

          วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ วันสุดท้ายก่อนที่จะยุติการแสดงไว้ชั่วคราวเพื่อทำการปรับปรุงครั้งใหญ่ บริษัท เฉลิมกรุงมณีทัศน์ จำกัด ในฐานะผู้เช่าดำเนินกิจการได้ทำการปรับปรุงโรงมหรสพเก่าแก่แห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปรารถนาจะให้ศาลาเฉลิมกรุงเป็นโรงมหรสพที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ

          และเพื่อดำเนินกิจการแสดงอันเป็นการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมและนาฏศิลป์ของไทย คือการแสดงโขนในลักษณะประยุกต์ใหม่ที่เรียกว่า “โขนจินตนฤมิต” และการแสดงละครเวที ซึ่งนับเป็นการอนุรักษ์และช่วยส่งเสริมศิลปะบันเทิงในด้านนี้ ให้มีพัฒนาการที่แพร่หลายสู่ระดับสากลประเทศและสามารถสืบทอดถึงคนรุ่นต่อไป     

          ด้วยเงินลงทุนกว่า ๑๐๐ ล้านบาทในการบูรณะปรับปรุงส่วนโครงสร้างและสถาปัตยกรรมภายใน โดยยึดแนวทางที่จะอนุรักษ์งานโครงสร้างเดิมไว้เป็นหลัก การต่อเติมและปรับแต่งจะทำเฉพาะในส่วนที่จำเป็นเท่านั้นเพื่อความสอดคล้อง และเอื้ออำนวยต่อการแสดงในลักษณะที่ตัวเวทีเป็นหลักในการชม ซึ่งต่างจากภาพยนตร์ที่เป็นการชมภาพจากจอฉายภาพยนตร์ ส่วนการตกแต่งแม้จะมีการเพิ่มเติมความเป็นไปของยุคสมัยปัจจุบัน และเสริมความหรูหราให้สมกับการเป็นโรงมหรสพที่เชิดหน้าชูตาของประเทศบ้างแต่ก็ยังคงแนวทางศิลปะในแบบดั้งเดิมที่มีอยู่ไว้ตลอด

          ดังนั้นศาลาเฉลิมกรุงในบทบาทของโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งขนาดใหญ่ที่เคยหรูหรางดงามที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อไม่อาจฝืนกระแสความนิยมที่ลดลงได้ จึงต้องมีการปรับตัวแหวกกระแสสู่ศิลปะบันเทิงในด้านอื่นด้วยบทบาทใหม่ของการเป็น “ศาลาเฉลิมกรุง” โรงมหรสพหลวงที่ยังคงให้บริการด้านการบันเทิงและศิลปะบันเทิงในแขนงต่างๆ เช่นเดิม เพียงแต่บทบาทใหม่ในการเป็นโรงมหรสพ “ศาลาเฉลิมกรุง” มิได้มุ่งเน้นในด้านภาพยนตร์เพียงอย่างเดียวเช่นแต่ก่อน หากมุ่งเน้นในด้านศิลปะการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยคือการแสดงนาฏศิลป์ “โขน” โดยนำมาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นการแสดงในลักษณะประกอบแสง สี เสียง และเทคนิคพิเศษ เพื่อเสริมอรรถรสแห่งการชมโขนให้มีจินตนาการที่สมจริงยิ่งขึ้น การแสดงนี้เรียกว่า “โขนจินตนฤมิต” ซึ่งยังคงยึดถือแนวแบบแผนของการแสดงนาฏศิลป์โขนไว้ดุจเดิม แต่ได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างของบทและรูปแบบการนำเสนอ ให้มีความกระชับสมควรแก่เวลาในการชมและประยุกต์เทคโนโลยีเสริม เพื่อประกอบการแสดงให้มีความสนุกสนานและดึงดูดความสนใจของผู้ชมที่ห่างเหินจากศิลปะการแสดงประจำชาติแขนงนี้ให้กลับมาช่วยกันธำรงอนุรักษ์ไว้ ละครเวทีซึ่งเคยเป็นศิลปะการแสดงที่เคยรุ่งเรืองมากในยุคหนึ่งของศาลาเฉลิมกรุง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองได้รับการสนับสนุนให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งเช่นกัน ด้วยโครงสร้างระบบเวทีและเทคนิคที่เสริมสร้างและเอื้ออำนวยต่อการแสดงมากขึ้น จากความผูกพันของผู้คนทั่วไปที่มีต่อศาลาเฉลิมกรุงตลอดมา บริษัท เฉลิมกรุงมณีทัศน์ จำกัด ผู้เข้ามา รับช่วงเช่าดำเนินกิจการศาลาเฉลิมกรุงในบทบาทของ “ศาลาเฉลิมกรุง” จึงมิได้ละเลยภาพลักษณ์เก่าๆ อันคงความผูกพันระหว่างผู้คนและสถานที่แห่งนี้ ด้วยความพยายามที่จะคงเก็บถนอมสิ่งเกี่ยวข้องอันทรงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่ม สถานะความเป็นโรงมหรสพที่หรูหราสวยงามเป็นที่เชิดชูตาของประเทศ บรรยากาศของความเป็นโรงมหรสพเก่าแก่ที่ได้รับการเชื่อถือและยอมรับจากผู้คนในแวดวงที่เกี่ยวข้อง ดุจเดียวกับเป็นสถาบันทางด้านการแสดง และบรรยากาศของความผูกพันในด้านความรู้สึกที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า ศาลาเฉลิมกรุงเคยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา

          ที่สำคัญคือการนำนาฏศิลป์โขนอันเป็นศิลปะการแสดงซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย มาประยุกต์เทคโนโลยีเพื่อการนำเสนอที่น่าสนใจยิ่งขึ้นนั้น ถือเป็นการช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูความนิยมในการชมการแสดงแขนงนี้ ซึ่งมีอายุยืนยาวกว่า ๒๐๐ ปี ให้ดำรงอยู่และสามารถสืบทอดต่อเนื่องถึงคนรุ่นต่อๆไป รวมทั้งสามารถเผยแพร่สู่ชาวต่างประเทศในระดับสากลอีกด้วย หากจะมองกันในอีกแง่หนึ่ง ความคิดในการนำเสนอรูปแบบการแสดง “โขนจินตนฤมิต” คือ การผสานเอาเทคโนโลยีเข้ากับศิลปะการแสดงไทยที่มีความอ่อนช้อยงดงาม ซึ่งนับว่าเป็นแง่มุมที่คล้ายกับความคิดในการออกแบบอาคารศาลาเฉลิมกรุง ที่มีการผสานเทคโนโลยีทางด้านสถาปัตยกรรมในรูปแบบตะวันตกกับศิลปกรรมไทยไว้ด้วยกันอย่างเหมาะสม ทั้งสองความคิด ทั้งสองแง่มุมล้วนได้รับการสร้างสรรค์มาจากความรู้สึกที่ต้องการนำเทคโนโลยีอันมีประโยชน์มาผสานใช้กับศิลปะไทย เพื่อส่งเสริมคุณค่าความเป็นไทยให้มีความโดดเด่นน่าภาคภูมิขึ้น และมีความทันสมัยในประโยชน์ใช้สอยของเทคโนโลยีเป็นส่วนช่วยเสริม

           ปัจจุบันศาลาเฉลิมกรุงได้จัดรายการศาลาเพลง – ศาลาเฉลิมกรุงขึ้นเป็นประจำทุกเดือนอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า ๒๐ ปี เพื่อเป็นการสืบสานผลงานคุณภาพของศิลปินระดับประเทศ โดยมี “วงดนตรีเฉลิมราชย์” และ อาจารย์วิรัช อยู่ถาวร พร้อมด้วยศิลปินแห่งชาติและนักร้องชั้นนำของประเทศไทยนำเสนอแนวดนตรีหลากหลาย อาทิ เพลงพระราชนิพนธ์ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ , เพลงไทยสากลเพื่อเชิดชูผลงานของบรมครูเพลงศิลปินแห่งชาติหลายท่าน, เพลงไทยลูกทุ่งเพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานเพลงลูกทุ่งไทย และเพลงสากล อีกทั้งยังมีกิจกรรมโครงการประกวดร้องเพลง “ศาลาเฉลิมกรุง...สืบสานตำนานเพลง” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างจิตสำนึกของเยาวชนและประชาชนคนไทยให้หันมารักเพลงไทย ร้องเพลงไทยและเป็นผู้สืบสานบทเพลงไทยสากลอันเป็นมรดกทางด้านการดนตรีของไทยให้คงอยู่สืบไป          
           ปัจจุบันศาลาเฉลิมกรุงยังคงเป็นโรงมหรสพที่ยิ่งใหญ่งดงาม และยิ่งมีค่าน่าสนใจเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศไทยและชาวไทยทั้งมวล ดังพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ ศาลาเฉลิมกรุงจึงเปรียบเสมือนพระบรมราชานุสรณ์อันยิ่งใหญ่ที่สืบทอดพระราชดำริของพระองค์ผู้ทรงพระราชทานโรงมหรสพแห่งนี้ ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับพสกนิกรชาวไทยตลอดไปชั่วกาลนาน