ศาลาเฉลิมกรุง : เวลาทำการ : จันทร์ – อาทิตย์ (ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ)
   


          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระนามเดิมว่าสมเด็จพระเจ้า ลูกยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ                              เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๖ ทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมที่วิทยาลัยอีตัน ในประเทศอังกฤษ และทรงศึกษาต่อวิชาการทหารและทหารม้าปืนใหญ่ ณ โรงเรียนนายร้อย เมืองวูลิช (The Royal Military Academy Woolwich) เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหาร ทรงพระยศนายร้อยตรีกิตติมศักดิ์แห่งกองทัพบกอังกฤษ เมื่อเสด็จนิวัติสู่พระนคร ได้ทรงเข้ารับราชการในกองทัพบกเป็นทหารปืนใหญ่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ 

          ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี แห่งราชสกุลสวัสดิวัตน์ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ หลังจากนั้นเสด็จไป ทรงศึกษาต่อวิชาการทหารชั้นสูง ที่โรงเรียนเสนาธิการทหารเอคอลเดอแกร์ L’ Ecole de Guerre ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเสด็จกลับมาทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองพลทหารบกที่ ๒ และผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒

          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๙ นับเป็นรัชกาลที่ ๗ แห่งบรมราชวงศ์จักรี ด้วยเหตุที่อิทธิพลในความรู้สึกนึกคิดของชาวตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยได้แพร่เข้ามาสู่ ประชาชนชาวไทย

          เป็นสาเหตุหลักที่ผลักดันให้เกิดความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ที่ประเทศไทยใช้มาช้านานแต่โบราณให้เป็นแบบประชาธิปไตย กลุ่มบุคคลที่รวมตัวกัน เรียกว่า “คณะราษฎร์” ได้ทำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ขณะที่ทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังไกลกังวลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คณะราษฎร์ได้นำรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นกฎหมายสูงสุด และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ให้เป็นฉบับถาวรเป็นหลักในการปกครองสืบไป

          ระหว่างที่ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกประการต่อพสกนิกรชาวไทย มีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของปวงชนชาวไทยให้ดีทัดเทียมประเทศตะวันตก ในโอกาสฉลองพระนคร ครบ ๑๕๐ ปี พ.ศ.๒๔๗๕ มีพระราชดำริให้คณะรัฐบาลสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าเชื่อมกรุงธนบุรีกับกรุงเทพฯ เพื่อให้มีความเจริญพัฒนาเท่าเทียมกันพร้อมทั้งจัดตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬ่าโลก ปฐมกษัตริย์แห่งจักรีวงศ์ ผู้ทรงประดิษฐานกรุงรัตนโกสินทร์ ไว้ที่เชิงสะพานฝั่งกรุงเทพฯด้วย และในโอกาสเฉลิมฉลองครั้งเดียวกันนี้ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงมหรสพที่ทันสมัย สง่างามเป็นของขวัญแก่พสกนิกร ชาวไทยไว้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ พระราชทานนามเป็นที่ระลึกว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” เปิดฉายภาพยนตร์เสียงเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๖ และดำเนินกิจการให้ความบันเทิงแก่ประชาชนทั่วไปจนถึงปัจจุบัน
   

        ศาลาเฉลิมกรุงมิใช่เป็นเพียงโรงภาพยนตร์โรงหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวพันกับความรุ่งเรืองของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเป็นตัวแทนความเฟื่องฟูของ วงการภาพยนตร์ของประเทศในอดีตที่ผ่านมาด้วย

        เมื่อจะมีการฉลองพระนครครบรอบ ๑๕๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการประชุมหารือกันในคณะรัฐบาลเพื่อจัดสร้าง ถาวรวัตถุขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถอำนวยสาธารณประโยชน์ เป็นที่ระลึกแห่งการเฉลิมฉลอง ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้จัดสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อเชื่อมกรุงเทพฯ กับกรุงธนบุรี ให้มีความเจริญพัฒนาทัดเทียมกัน พร้อมทั้งได้สร้างพระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไว้ที่เชิงสะพานฝั่งพระนครด้วย เพื่อเป็นที่รำลึกถึงพระผู้ทรง ประดิษฐานกรุงเทพมหานคร และพระบรมราชวงศ์จักรี           

        ในโอกาสเดียวกันนั้น จากแนวพระราชดำริที่ทรงเห็นว่าสิ่งบันเทิงที่เฟื่องฟูมากที่สุดในโลกยุคนั้นก็คือ “ภาพยนตร์” และแม้ว่าในเวลานั้นได้มีการสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นอย่างแพร่หลายแล้วในกรุงเทพฯ และทุกหัวเมืองก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีโรงภาพยนตร์ที่มีลักษณะสวยงามภูมิฐานเป็นสง่าราศีแก่เมืองได้ ประกอบกับความที่ทรงรอบรู้และเป็นนักนิยมภาพยนตร์ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์กว่า ๙ ล้านบาท เพื่อสร้างโรงภาพยนตร์สำหรับฉายภาพยนตร์เสียงขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย อีกทั้งยังมีลักษณะภูมิฐานเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศได้ ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันชั้นนำของประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง ได้พระราชทานนามของโรงมหรสพเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ออกแบบ และเป็นอนุสรณ์แห่งงานฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี ว่า “ศาลาเฉลิมกรุง”

        ที่ตั้งของศาลาเฉลิมกรุงนี้แต่เดิมในสมัยรัชกาลที่๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินบริเวณระหว่างถนนเจริญกรุงและถนนพาหุรัดช่วงหลังวังบูรพาภิรมย์ ระหว่างถนนบูรพาและถนน ตรีเพชร โดยวางแผนตัดถนนเป็นรูปกากบาทในพื้นที่ดินรูปสี่เหลี่ยมนี้ ด้วยว่าเดิมทรงพระราชดำริให้เป็นย่านการค้า แต่แนวพระราชดำรินี้ก็มิได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ คงปล่อยเป็นลานโล่งๆ ที่ตรงกลางมีถนนสองสายตัดกันเหลือไว้ ต่อมาผู้คนเรียกบริเวณนี้ว่า “สนามน้ำจืด” นอกจากบริเวณที่ตั้งของศาลาเฉลิมกรุงจะเป็นย่านธุรกิจ ที่สำคัญแล้ว ที่บริเวณนี้ยังเป็นแหล่งบันเทิงสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของผู้คนในสมัยนั้นอีกด้วย เพราะตลอดแนวใกล้เคียงถนนเจริญกรุงไปจรดสามแยก (ต้นประดู่) เป็นแหล่งรวมโรงมหรสพที่สำคัญของยุคนั้น เช่น โรงภาพยนตร์นาครเขษม โรงภาพยนตร์พัฒนากร โรงภาพยนตร์สิงคโปร์ ( ศาลาเฉลิมบุรี ) ฯลฯ อีกทั้งบริเวณฝั่งตรงข้ามของศาลาเฉลิมกรุงคือ ตลาดบำเพ็ญบุญ ก็เป็นแหล่งที่ผู้คนมาเที่ยวหาความสำราญกันคึกคัก ทั้งจากการรับประทานอาหารและชมมหรสพการแสดงต่างๆ จากเหตุผลของความเหมาะสมดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพิจารณาเลือกพื้นที่บริเวณนี้สำหรับสร้างศาลาเฉลิมกรุง อนึ่งทรงเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้ เป็นเส้นทางเดียวกับที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ และสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกด้วย

        การก่อสร้างอาคารศาลาเฉลิมกรุงเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เอง จากนั้นบริษัทบางกอกจึงเริ่มงานก่อสร้าง หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ทรงออกแบบอาคารศาลาเฉลิมกรุงในรูปแบบสากลสมัย ( International Style หรือ Modern Style) หรือที่สถาปนิกรุ่นหลังเรียกว่า Contemporary Architecture ตัวอาคารมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมสูง ตระหง่านมั่นคง ผึ่งผาย ตามแบบตะวันตก โครงสร้างของอาคารแข็งแรงมาก รับน้ำหนักได้ดีเยี่ยม ด้วยการใช้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันก็เปิดเนื้อที่กว้างขวางไว้ภายในโดยไม่มีเสามาบังตา ส่วนประกอบอื่น เช่น ผนัง ประตูบานพับ ยังเน้นถึงความปลอดภัยของผู้ที่เข้าไปชมภาพยนตร์เป็นสำคัญ

        ในสมัยนั้นอาคารศาลาเฉลิมกรุงจัดได้ว่าเป็น อาคารที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียขณะนั้น มีความสวยงามเป็นที่น่าตื่นเต้นและภาคภูมิใจแก่ผู้ที่ได้มาสัมผัสชื่นชม สามารถจุผู้คนได้เป็นพันคน มีการออกแบบตกแต่งภายในอย่าง วิจิตรงดงามด้วยศิลปะไทยสอดผสานกับศิลปะตะวันตก มีระบบไฟแสงสีที่แปลกตาอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีระบบเสียงที่สมบูรณ์แบบ มีระบบปิด – เปิดม่านอัตโนมัติ เป็นโรงมหรสพแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศ นอกจากนั้นยังจัดฉายภาพยนตร์ชั้นดี โดยเฉพาะภาพยนตร์ต่างชาติเสียงในฟิล์ม โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงในยุคแรกเริ่มจึงเป็นที่ชุมนุมของคนที่มีการศึกษาดี มีความรู้ภาษาต่างประเทศและผู้ที่จบการศึกษามาจากต่างประเทศ

        ครั้นต่อมาถึงยุคที่ภาพยนตร์ไทยเฟื่องฟู ศาลาเฉลิมกรุงเป็นเสมือนหนึ่ง ศูนย์กลางของวงการบันเทิงอย่างแท้จริง จนนับว่าเป็นฮอลลีวูดเมืองไทยก็ว่าได้ ศาลาเฉลิมกรุงเป็นศูนย์รวมของแหล่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เป็นศูนย์รวมของผู้คนในวงการภาพยนตร์ไทย ตั้งแต่ผู้สร้าง ผู้กำกับ ดารา ตัวประกอบ ทีมงาน นักพากย์ นักร้อง ช่างเขียนโปสเตอร์ ฯลฯ และเป็น สถาบันในการผลิตบุคลากรทางด้านการภาพยนตร์และละครของไทย ศาลาเฉลิมกรุงเป็นเหมือนประกาศนียบัตรรับรองความสำเร็จของบุคคลในสายอาชีพนี้ ตลอดไปจนถึงบริษัทฉายหนังต่างๆ ที่มีกิจการอยู่ในละแวกด้านหลังศาลาเฉลิมกรุง

        ศาลาเฉลิมกรุง ถือว่าเป็นส่วนสำคัญและส่งเสริมให้พื้นที่โดยรอบพัฒนาตัวเองขึ้น จากการเป็นย่านธุรกิจการค้า สำคัญ สู่ความรุ่งเรืองในระดับที่เป็นศูนย์กลางความเจริญและความทันสมัยของยุคนั้น จากเสาชิงช้าลงไปถึงริมน้ำเจ้าพระยาและระเรื่อย ตลอดสองฝั่งถนนเจริญกรุงไปจนถึงสำเพ็ง และตลาดน้อย กลายเป็นแหล่งธุรกิจ นานาชนิด ความชื่นชมของประชาชน ที่มีต่อศาลาเฉลิมกรุง ไม่ได้มีแต่เพียงในระยะแรกเริ่มเท่านั้น หากยังดำรงต่อมาอีกเนิ่นนานนับเป็นสิบๆ ปี ศาลาเฉลิมกรุงถือว่าเป็นแหล่งศูนย์กลางความบันเทิงที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย จนเป็นประเพณีนิยมว่าคนหนุ่มสาวสมัยนั้นที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ต้องมาใช้ชีวิตส่วนหนึ่งสัมผัสกับบรรยากาศ ของย่านนี้ ขนาดที่ว่าใครไม่รู้จักศาลาเฉลิมกรุงถือว่า “เชย” ที่สุดทีเดียว

        ศาลาเฉลิมกรุงและย่านใกล้เคียงได้ซบเซาไปชั่วระยะหนึ่ง เนื่องจาก วิวัฒนาการของสังคม กระแสทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของผู้คน แต่มาบัดนี้ก็ได้ถึงยุคฟื้นฟูให้ศาลาเฉลิมกรุงกลับมีชีวิตเป็น โรงภาพยนตร์พระราชทานอีกครั้งหนึ่ง ด้วยอดีตที่ผูกพันกับหลายสิ่งหลายอย่างที่เข้มข้น ผูกพันกับชีวิตคนเป็นจำนวนมาก ผูกพันกับประวัติศาสตร์ของสังคมไทยในกรุงเทพมหานครมาเป็นเวลานาน ศาลาเฉลิมกรุงจึงควรค่าแก่การ สนใจทะนุถนอมไว้เพื่อให้เป็นโรงภาพยนตร์พระราชทาน สมดังพระราชประสงค์สืบไป